วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วันออกพรรษษ


 วันออกพรรษา เป็นวันที่พุทธบริษัททั้งชาววัดและชาวบ้าน ได้พร้อมใจกันกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ตามคติประเพณีที่เคยประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาแต่โบราณกาล เช่นมีการตักบาตรเทโว หรือเรียกตักบาตรดาวดึงส์ เป็นต้น "วันออกพรรษา" มีสาเหตุเนื่องมาจาก "วันเข้าพรรษา" ที่มีมาแล้วเมื่อวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ อันเป็นวันที่พระภิกษุทั้งหลายอธิษฐานใจเข้าอยู่พรรษาครบไตรมาส คือ ๓ เดือน ตามพระพุทธบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมค้างคืนนอกสถานที่ที่ท่านตั้งใจอยู่ไว้ เมื่อมีวันเข้าพรรษาก็จำเป็นต้องมีวันออกพรรษา ซึ่งวันออกพรรษา ซึ่งวันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ (เพ็ญเดือน ๑๑) ของทุกปี วันออกพรรษา เป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ได้จำพรรษาครบกำหนดไตรมาส ตามพระพุทธบัญญัติแล้ว ท่านมีสิทธิ์ที่จะจาริกไปพักค้างคืนที่อื่นได้ ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติและยังได้รับอานิสงส์ (ผลดี) คือ
          ๑.ไปไหนไม่ต้องบอกลา
          ๒.ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด
          ๓. ลาภที่เกิดขึ้นแก่ท่านมีสิทธิ์รับได้
          ๔. มีโอกาสได้อนุโมทนากฐินและได้รับอานิสงส์คือได้รับการขยายเวลาของ
อานิสงส์นั้นออกไปอีก ๔ เดือน
อนึ่ง มีชื่อเรียกวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งว่า " วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา" มีความหมายว่าพระภิกษุทั้งหลายทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้มีคำกล่าวปวารณาเป็นภาษาลี ว่า "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ"
แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี
การที่พระท่านกล่าวปวารณา (ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน) กันไว้ ในเมื่อต่างองค์ต่างต้องจากกันไปองค์ละทิศละทางท่านเกรงว่าอาจมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น โดยตัวท่านเองรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือมองไม่เห็นเหมือนผงเข้าตาตัวเอง แม้ผลจะอยู่ชิดติดกับลูกนัยน์ตา เราก็ไม่สามารถมองเห็นผลนั้นได้ จำเป็นต้องไหว้วานขอร้องผู้อื่นให้มาช่วยดูหรือต้องใช้กระจกส่องดู เพราะฉะนั้น พระท่านจึงใช้วิธีการกล่าวปวารณาตัดไว้เพื่อท่านรูปอื่นได้เห็นหรือแม้แต่ได้ยินได้ฟัง เรื่องดีไม่ดีไม่งามอะไรก็ตามให้กล่าวแนะนำตักเตือนได้โยไม่ต้องเกรงใจกันทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยด้วยเจตนาดีต่อกัน คือ พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถกล่าวชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยที่พระผู้ใหญ่คือผู้มีอาวุโสท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง
การกล่าวปวารณา เท่ากับเป็นการช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีของพระรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดน้อยๆ นี้ที่จะลุกลามก่อความเสื่อมเสียไปถึงพระหมู่มาก และลุกลามไปถึงพระพุทธศาสนาอันเป็นจุดศูนย์ที่ใหญ่ได้ ท่านจึงใช้วิธีป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าการแก้ไขในภายหลัง
ตัวอย่าง วันออกพรรษาหรือวันมหาปวารณาที่พระภิกษุทั้งหลายกระทำเช่นนี้ เป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหายไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา
ส่วนพิธีของฆราวาสนั้นควรจะนำเอาพิธีปวารณาของพระท่านมาใช้ดูบ้าง ซึ่งจะมีผลดีที่เกิดขึ้นแก่กลุ่มชนที่อยู่รวมกัน ไม่ว่าครอบครัวและสังคมต่าง ๆ และมีพิธีกรรมของฆราวาสที่เกี่ยวเนื่องกันในวันออกพรรษานี้ก็ได้แก่การบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ เช่น การทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรม ณ วัดที่อยู่ใกล้เคียง
มีการทำบุญอันเป็นประเพณีที่นิยมกระทำกันมานานแล้วในวันออกพรรษา ซึ่งเรียกว่า " ตักบาตรเทโว" หรือเรียกชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหนะ" แปลว่าการหยั่งลงจากเทวโลก หรือการตักบาตรนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" และการตักบาตรเทโวนี้ จะกระทำในวันขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ หรือวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ก็ได้สุดแท้แต่จะเห็นพร้อมกัน
การทำบุญตักบาตรเทโวนี้ ท่านจัดเป็นกาลนาน คือ หนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง และการกระบุญเช่นนี้ โดยยึดถือว่าเป็นวันคล้ายกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ตามตำนานกล่าวว่า

เมื่อก่อนพุทธศักดิ์ราช ๘๐ ปี พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนา "พระสัตตปรณาภิธรรม" คือพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา (ซึ่งทรงบังเกิดอยู่ในสวรรคชั้นดุสิต)

 ครั้นครบกำหนดการทรงจำพรรษาครบ ๓ เดือนพระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระวัสสาแล้วเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่มนุษย์โลก ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ โดย เสด็จลงทางบันไดแก้วทิพย์ ซึ่งตั้งระหว่างกลางของนับไดทองทิพย์อยู่เบื้องขวาบันไดเงินทิพย์อยู่เบื้องซ้ายและหัวบันไดทิพย์ที่เทวดาเนรมิตขึ้นทั้ง ๓ พาด บนยอดเขาพระสิเนรุราช อันเป็นที่ตั้งแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ส่วนเชิงบันไดตั้งอยู่บนแผ่นศิลาใหญ่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสนครและสถานที่นั้นประชาชนถือว่าเป็นศุภนิมิตรสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็น "พุทธบูชานุสาวรีย์" เรียกว่า "อจลเจดีย์"
อนึ่งในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาสู่มนุษย์โลกนั้นประชาชนพร้อมกันไปทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมากสุดจะประมาณ พิธีที่กระทำกันในการตักบาตรเทโว ซึ่งถือตามประวัตินี้ก็เท่ากับทำบุญตักบาตร รับเสด็จพระพุทธเจ้าในคราวเสด็จลงมาจากเทวโลกนั่นเอง บางวัดจึงเตรียมการในคฤหัสถ์แต่งตัวเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้างแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่มีล้อเคลื่อนและมีบาตรตั้งอยู่ข้างหน้าพระพุทธรูปใช้คนลากนำหน้าพระสงฆ์ พวกทายกทายิกาตั้งแถวเรียงรายคอยใส่บาตรเป็นการกระทำให้ใกล้กับความจริงเพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ส่วนอาหารที่นำมาทำบุญตักบาตรในวันนั้น มีข้าว กับข้าวต้มมัดใต้ ข้าวต้มลูกโยนที่ห่อด้วยใบมะพร้าวหรือใบลำเจียกไว้หางยาวและข้าวต้มลูกโยนนี้มี ประวัติมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะตั้งใจอธิษฐานแล้วโยนไปให้ลงบาตรของพระพุทธเจ้า เนื่องจากมีคนมากเข้าไปใส่บาตรไม่ได้
ความมุ่งหมายของการปวารณากรรม
ปวารณากรรม มีความมุ่งหมายชัดเจนปรากฏอยู่ในคำที่สงฆ์ใช้ปวารณาซึ่งกันและกัน ดังนี้
      - เป็นกรรมวิธีลดหย่อนผ่อนคลายข้อขุ่นข้องคลางแคลงที่เกิดจากความระแวงสงสัย
ให้หมดไปในที่สุด
     - เป็นทางประสานรอยร้าว ที่เกิดจากผลกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกันให้มีโอกาสกลับคืนดีด้วยการให้โอกาสได้ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน
     - เป็นทางสร้างเสริมความสามัคคีในหมู่ให้กลมเกลียวอยู่ร่วมกันอย่างสนิทใจ
     - เป็นแนวปฏิบัติให้เกิดความเสมอภาคกันในการแสดงความคิดว่ากล่าวตักเตือนได้โดยไม่จำกัดด้วย ยศ ชั้น พรรษา วัย
     - ก่อให้เกิด "ภราดรภาพ" รู้สึกเป็นมิตรชิดเชื้อปรารถนาดี เอื้อเฟื้ออาทรเป็นพื้นฐานนำไปสู่พฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่ดีงานคล้าย ๆ กัน เรียกว่า ศีลสามัญญุตา

พิธีตักบาตรเทโว(วันพระเจ้าเปิดโลก)
          มีปรากฎในอรรถกถาธรรมบทว่าในขณะนั้นพระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่ในนครสาวัตถี
พรรษาที่ ๒๕ ผู้คนในชมพูทวีปหันมาเลื่อมในพระพุทธศาสนาทำให้นักบวชของศาสนา
อิจฉาเพราะเขาเหล่านั้นเดือดร้อนในการขาดผู้ค้ำจุนดูแลและขาดลาภสักการะจึงทำการกลั่นแกล้ง พระพุทธศาสนาโดยประการต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องฤทธิ์พระองค์และเหล่าสาวกของพระองค์เองศาสนาอื่นปลุกปั่นจนพระองค์ทรงห้ามเหล่าสาวกทั้งหลายแสดงฤทธิ์ พระองค์ก็งดแสดงฤทธิ์เช่นกัน จึงทำให้ศาลามีจุดที่จะทำให้ศาสนาอื่น เช่น อาจารย์ทั้ง ๖ และศาสนาเชน ทำการโฆษณาชวนเชื่อว่าพระพุทธศาสนานั้นมีพระพุทธเจ้าและสาวกสิ้นฤทธิ์หมดแล้วอย่าไปนับถือเลยสู้พวกตนไม่ได้ยังมีฤทธิ์เหนือกว่าควรจะมานับถือพวกตนดีกว่าพระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ถือขืนปล่อยไว้เฉยต่อไป โดยไม่ตอบโต้บ้าง อาจเป็นผลเสียต่อพระพุทธศาสนา ดังนั้นวันเพ็ญอาสาฬหะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ คือแสดงฤทธิ์เป็นคู่ ๆ ซึ่งก็มีปรากฎเพียงครั้งเดียวในครั้งนั้นทำให้ผู้คนที่เคลือบแครงสงสัยหันมานับถือศาสนาอย่างมั่นคงอีกครั้ง ในวันรุ่งขึ้นแรม ๑ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ เป็นวันอธิฐานเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าทรงประกาศจำพรรษาที่สรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามธรรมเนียมที่พระพุทธเจ้าทำกันมาเมื่อลาพระพุทธเจ้าทรงลาบริษัทแล้วก็เสด็จไป ณ ดาวดึงส์เทวโลกเพื่อโปรดพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรม ๗ พอครบเวลา ๓ เดือนของการโปรดพระพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรมทั้ง ๗ ในวันเพ็ญเดือน ๑๑ ก็เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ ณ ที่ประตูเมือง สังกัสสนคร ท้าวสักกเทวราชพร้อมด้วยบริวารตามลงมาเสด็จทางบันใดสวรรค์จนถึงขั้นพิภพ พระพุทธเจ้าทรงใช้อิทธิฤทธิ์บรรดาลให้โลกทั้ง ๓ มี เทวโลก , มนุษย์โลก , สัตว์นรก มองเห็นกันทั้งหมด จึงเรียกวันนั้นว่า วันพระเจ้าเปิดโลกพอวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ผู้คนในชมพูทวีปพากันมาใส่บาตรพระสงค์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข การตักบาตรในครั้งนั้นไได้นัดหมายกันมาก่อนเลยต่างคนก็ต่างมาด้วยศรัทธาจึงทำให้คนมามากมาย เมื่อมีมามากทำให้ไม่ถึงบาตรพระภิกษุสงฆ์ จึงเอาข้าวของตนห่อหรือปั้นเป็นก้อน โยนใส่บาตรพระด้วยเหตุนี้ต่อมาภายหลังจึงนิยมทำข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรพระใน
วันเทโวณหณะ

พิธีตักบาตรเทโวโรหณะในสมัยปัจจุบัน
ตอนรุ่งอรุณของวันตักบาตรเทโว พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันใดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้

ภาคกลาง
จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาจากบันใดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันใดสวรรค์ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร
จังหวัดอุทัยธานีซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ณ วัดสะแกกรัง พระภิกษุจะเดินลงมาจากเขารับบิณฑบาตรจากชาวบ้าน อนึ่ง ขบวนพระภิกษุสงฆ์นั้นที่ลงมาจากบันใดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูป นำหน้าสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้าจะใช้พระปางอุ้มบาตร ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตรหรือปางลีลา โดยตั้งบนรถ หรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาตร
สำหรับบางที่ไม่นิยมตักบาตรเทโว แต่นิยมตักบาตรตอนเช้าถวายอาหารพระภิกษุแล้ว ฟังเทศน์รักษา อุโบสถศีล
สำหรับที่นิยมตักบาตรเทโว จะทำบุญเป็น ๒ วันคือวันออกพรรษากับวันเทโว ในวันแรม 1 ค่ำเดือน ๑๑ ในวันออกพรรษานั้น ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็มีการฟังเทศน์ตอนสาย และรักษาอุโบสถศีล

ภาคใต้
ประเพณีชักพระ (พระพุทธรูป) ทางภาคใต้เรียกว่า พิธีลากพระมีสองกรณี คือ ชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ
ถึงแม้ภาคนี้จะมีความแตกต่างไปจากภาคอื่น ภาคใต้ ก็มีจุดประสงค์ปรารภเหตุ การเสด็จลงมาของพระพุทธเจ้าจากเทวโลกมาถึงพื้นโลก ในวันปวารณาออกพรรษาเช่นเดียวกัน ก็จัดให้มีประเพณีแห่พระพุทธรูป ในวันแรม 1 ค่ำเดือน ๑๑ จึงนำมากล่าวในที่นี้ด้วยประเพณีชักพระ มี ๒ ประเภท คือ ชักพระทางบก กับชักพระทางน้ำ
พิธีชักพระทางบก
จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนวันชักพระ ๒ วันจะมีพิธีใส่บาตรหน้าล้อ นอกจากอาหารคาวหวาน ยังมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน " ปัด" คือข้าวต้มผัด น้ำกะทิห่อด้วยใบมะพร้าว บางที่ห่อด้วยใบกะพ้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง) ในภาคกลางเขาเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ก่อนจะถึงวันออกพรรษา ๑ - ๒ สัปดาห์ทางวัดจะทำเรือบก คือเอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ ๒ ท่อนมาทำเป็นพญานาค ๒ ตัว เป็นแม่เรือที่ถูกยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วปูกระดาน วางบุษบก (ร้านม้า)บนบุษบกจะนำพระพุทธรูปยืนรอบบุษบกก็วางเครื่องดนตรี ไว้บรรเลงเวลาเคลื่อนพระไปสู่บริเวณงานพอเช้าวัน ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจะช่วยกันชักพระ โดยถือเชือกขนาดใหญ่ ๒ เส้นที่ผูกไว้กับพญานาคทั้ง ๒ ตัวเมื่อถึงบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองต่าง ๆ กลางคืนมีงานฉลองอย่างมโหฬาร การชักพระที่ปัตตานี มีอิสลามร่วมด้วย
พิธีชักพระทางน้ำ
ก่อนถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ทางวัดที่อยู่ริมน้ำ ก็จะเตรียมการต่าง ๆ ก็จะนำเรือมา ๒ - ๓ ลำ มาปูด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือพนมพระประดับประดาด้วยธงทิว ในบุษบกก็ตั้งพระพุทธรูปในเรือบางที่ก็มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดทางที่เรือเคลื่อนที่ไปสู่จุดกำหนด คือบริเวณงานท่าน้ำที่เป็นบริเวณงานจะมีเรือพระหลาย ๆ วัดมาร่วมงาน ปัจจุบันจะนิยมใช้เรือยนต์จูง แทนการพาย เมื่อชักพระถึงบริเวณงานทั้งหมดทุกวัดที่มาร่วม จะมีการฉลองสมโภชพระ มีการเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน เช่นแข่งเรือปาโคลน ซัดข้าวต้ม เป็นต้น เมื่อฉลองเสร็จ ก็จะชักพระกลับวัด บางทีก็จะแย่งเรือกัน ฝ่ายใดชนะก็ยึดเรือ ฝ่ายใดแพ้ต้องเสียค่าไถ่ให้ฝ่ายชนะ จึงจะได้เรือคืน
พิธีรับพระภาคกลาง
พิธีรับพระเป็นพิธีบูชาพระพุทธเจ้า ในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากการจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เทวโลก พิธีนี้มักจะปรากฏในภาคกลางที่อยู่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง ที่เป็นคมนาคมทางน้ำ เช่น อำเภอบางบ่อ บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทางวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปยืนลงบุษบกในตัวเรือแล้วแห่ไปตามลำคลอง ชาวบ้านก็จะโยนดอกบัวจากฝั่งให้ตกในเรือหน้าพระ-พุทธรูป แล้วโยนข้าวต้ม ยังมีการแข่งขันเรือชิงรางวัลอีกด้วย
ประเพณีตักบาตรพระร้อย
"ประเพณีตักบาตรพระร้อย" หรือ ใส่บาตรพระร้อยรูป เป็นบุญประเพณีของชาวประเพณีโดยเฉพาะ ส่วนมากจัดพิธีขึ้นทางน้ำเนื่องด้วยแต่เดิมบ้านอยู่ติดริมน้ำลำคลอง จึงใช้เรือสัญจร พระส่วนมากจึงใช้เรือบิณฑบาต
เนื่องมาแต่ความเชื่อเดิมว่าหลังวันเสด็จลงจากเทวโลก คือวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ หรือวันตักบาตรเทโว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงนำพระภิกษุสงฆ์จำนวนเป็นร้อยออกบิณฑบาต ชาวประชาจึงหลั่งไหลมาถวายสักการะต้อนรับด้วยดอกไม้และบิณฑบาตทาน จึงมีพิธีตักบาตรเทโวขึ้น แต่ชาวปทุมธานีนิยมกำหนดเอาพระบิณฑบาตจำนวนร้อยรูป จึงเรียกว่า ตักบาตพระร้อยสืบมา
ประโยชน์ของพิธีออกพรรษา
๑. เมื่อวันออกพรรษามาถึงเป็นการเตือนใจชาวพุทธว่า เวลาที่ผ่านไป ชีวิตก็ใกล้ตายเข้าไปทุกขณะแล้ว ควรเร่งทำกุศล และยังได้ถึงความปีติ ที่ได้บำเพ็ญกิจมาตลอดพรรษาและเป็นการเตือนสติอย่าให้จิตของตนละเลิกการทำกุศลไม่ให้ตกไปสู่ทางอบายมากเกินไป
๒. ประโยชน์ที่โดดเด่น คือประโยชน์ของการปวารณาที่สงฆ์การกระทำกันในวันออกพรรษาเพื่อให้สงฆ์ดำรงค์ความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวยากแก่การทำลาย ถ้าคนในชาติเราทุกฝ่ายหันมา ปวารณากัน คือเปิดใจกัน เปิดเผยซึ่งกันและกัน หันหน้ามารวมพลังกันพัฒนาประเทศความทุกข์ก็จะบรรเทาเบาบางลง 
จากพิธีออกพรรษา
๑. เตือนสติว่าเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกพรรษาหนึ่งแล้วได้คร่าชีวิตมนุษย์ ให้ผู้คนนั้นดำรงค์อยู่ในความไม่ประมาทและหันมาสร้างกุศล
๒. การทำบุญออกพรรษาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นชำระความผิดของตนได้ คือหลักปวารณา ปกติคนเราคบกันนาน ๆ ก็จะเผย "สันดาน" ที่แท้ออกมาอาจจะไม่ดีนักแต่ตนเองไม่รู้ตัวแล้วมองไม่เห็น แต่ผู้อยู่ข้าง ๆ มองเห็นแต่ไม่กล้าเตือน ดังนั้นตนเองต้องปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้ ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นและยั่งยืน
๓. ได้ข้อคิดที่ว่า คนเราส่วนใหญ่มักจะลำเอียงเข้าข้างตนเองเป็นฝ่ายถูกความผิดของคนอื่นเห็นง่ายส่วนตนเองนั้นความผิดนั้นเห็นยาก นี่แหละสัญชาตญาณของคนเรา
๔. เป็นการให้รู้ถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการเปิดใจซึ่งกันและกันโดยไม่มีเล่ห์เหลี่ยมลับลมคมในใด ๆ ต่อในการคบหาหรืออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


แหล่งที่มา  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติhttp://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=119:-m---m-s&catid=41:2009-03-01-22-05-09&Itemid=167

วันเข้าพรรษา


วันเข้าพรรษา จัดเป็นพิธีกรรมของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา โดยท่านต้องประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติ (ข้อที่ตั้งขึ้นให้รู้ทั่วกันการกำหนดเรียก การวางเป็นกฎข้อบังคับ) ที่ทรงวางเป็นระเบียบข้อบังคับให้พระสงฆ์ต้องเขาจำพรรษาในสถานที่ที่ทรงอนุญาตให้เข้าอาศัยอยู่ได้ และพิธีกรรมวันเข้าพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนได้มีส่วนร่วมประกอบคุณงามความดีตามหน้าที่ของชาวพุทธ เพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งมีประวัติที่น่าสนใจวันเข้าพรรษา เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ เรียกว่า ครบไตรมาส คือ ๓ เดือนนี่เป็นการเข้า "พรรษาต้น"ส่วนการเข้า"พรรษาหลัง"เริ่มตั้งแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๙ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒


พิธีกรรมของสงฆ์ ก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา
พระท่านจะทำการซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้อยู่ในสภาพที่ดีที่ใช้อยู่อาศัยได้ จัดการปัดกวาดหยากไย่ เช็ดถูให้สะอาด สาเหตุที่ต้องกระทำเสนาสนะให้มั่นคงและสะอาด ก็เพื่อจะได้ใช้บำเพ็ญสมณกิจในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาได้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวฝนจะรั่วรดอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วจึงกระทำพิธีเข้าพรรษา โดยกล่าวอธิษฐานตั้งใจเพื่ออยู่จำพรรษา ตลอดฤดูฝนในวันของท่านที่ตั้งใจจะอยู่

คำกล่าวอธิษฐานพรรษาเป็นภาษาบาลีว่า "อิมัสะมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ" แปลว่า "ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาในวัดนี้ ตลอด ๓ เดือน" โดยกล่าวเป็นภาษาบาลีดังนี้ ๓ ครั้ง ต่อจากนั้นพระผู้น้อยก็กระทำสามีกิจกรรม คือ กล่าวขอขมาพระผู้ใหญ่ว่า "ขอขมาโทษที่ได้ล่วงเกินไปทางกาย วาจา ใจ เพราะประมาท"
ส่วนพระผู้ใหญ่ ก็กล่าวตอบว่า ลดโทษให้เป็นอันว่าต่างฝ่ายต่างให้อภัยกัน นับเป็นอันเสร็จพิธีเข้าพรรษาในเวลานั้น ครั้นวันต่อไปพระผู้น้อยก็จะนำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบพระเถรานุต่างวัด ผู้ที่ตนเคารพนับถือ
ความเป็นมาของการเข้าพรรษา
ประวัติพิธีเข้าพรรษาของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามีเรื่องเล่าว่า ในประเทศอินเดียในสมัยโบราณ เมื่อถึงฤดูฝน น้ำมักท่วม ผู้ที่สัญจรไปมาระหว่างเมือง เช่น พวกพ่อค้า ก็หยุดเดินทางไปมาชั่วคราว พวกเดียรถีย์และปริพาชกผู้ถือลัทธิต่าง ๆ ก็หยุดพัก ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดฤดูฝน ทั้งนี้เพราะการคมนาคมไม่สะดวก ทางเป็นหลุมเป็นโคลน เมื่อเกิดพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกเผยแพร่พระศาสนาต่อไป นับเป็นพุทธจริยาวัตรและในตอนแรกที่ยังมีพระภิกขุสงฆ์ไม่มาก พระภิกขุสงฆ์ปฏิบัติประพฤติตามพระพุทธเจ้า ความครหานินทาใด ๆ ก็ไม่เกิดมีขึ้นจึงไม่ต้องทรงตั้งบัญญัติพิธีอยู่จำพรรษา ครั้นพอพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไปกว้าง พระภิกขุสงฆ์ได้เพิ่มปริมาณเพิ่มขึ้น
วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีพระภิกขุ ๖ รูป ฉัพพัคคีย์ แม้เมื่อถึงฤดูฝน ก็ยังพากันจาริกไปมา เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าหญ้าระบัด และสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้เกิดความเสียหายและตายไป ประชาชนจึงพากันติเตียนว่าไฉนพระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล พากันเหยียบย่ำข้าวกล้าและต้นไม้ตลอดจนทั้งสัตว์หลายตายจำนวนมาก แม้พวกเดียรถีย์และปริพาชก ก็ยังหยุดพักในฤดูฝนหรือจนแม้แต่นกก็ยังรู้จักทำรังเพื่อพักหลบฝน เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในที่แห่งเดียวตลอด 3 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ห้ามมิให้พระภิกษุเที่ยวไปค้างคืนที่อื่น หากมีธุระกิจเป็นอันชอบด้วยพระวินัย จึงไปได้ด้วยการทำสัตตาหกรณียะ คือต้องกลับมาที่พักเดิมภายใน ๗ วัน นอกจากนั้นห้ามเด็ดขาด และปรับอาณัติแก่ผู้ฝ่าฝืนล่วงละเมิดพระบัญญัติพิธีการปฏิบัติในวันเข้าพรรษา มีความเป็นมาดังกล่าวนี้
พิธีกรรมของพุทธศาสนิกชน อันเนื่องในวันเข้าพรรษานั้น
 พุทธศาสนิกชนมีการกระทำบุญตักบาตรกัน ๓ วัน คือวันขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ และขนมที่นิยมทำกันในวันเข้าพรรษาได้แก่ ขนมเทียน และท่านสาธุชนที่มีความเคารพนับถือพระภิกษุวัดใด ก็จัดเครื่องสักการะ เช่น น้ำตาล น้ำอ้อย สบู่ แปรง ยาสีฟัน พุ่มเทียน เป็นต้น นำไปถวายพระภิกษุวัดนั้น ยังมีสิ่งสักการะบูชาที่พุทธศาสนิกชนนิยมกระทำกันเป็นงานบุญน่าสนุกสนานอีกอย่างหนึ่งคือ "เทียนเข้าพรรษา" บางแห่งจะมีการบอกบุญเพื่อร่วมหล่อเทียนแท่งใหญ่ แล้วแห่ไปตั้งในวัดอุโบสถ เพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัยตลอด ๓ เดือน การแห่เทียนจำนำพรรษาหรือเทียนเข้าพรรษาจัดเป็นงานเอิกเกริก มีฆ้องกลองประโคมอย่างสนุกสนาน และเทียนนั้นมีการหล่อหรือแกะเป็นลวดลายและประดับตกแต่งกันอย่างงดงาม
เทศการเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นเทศกาลพิเศษ พุทธศาสนิกชนจึง ขะมักเขม้นในการบุญกุศลยิ่งกว่าธรรมดาบางคนตั้งใจรักษาอุโบสถตลอด ๓ เดือน บางคนตั้งใจฟังเทศน์ทุกวันพระตลอดพรรษา มีผู้ตั้งใจทำความดีต่าง พิเศษขึ้น ทั้งมีผู้งดเว้นการกระทำบาปกรรมในเทศกาลเข้าพรรษา และคนอาศัยสาเหตุแห่งเทศกาลเข้าพรรษาตั้งสัตย์ปฏิญาณเลิกละอายมุกและความชั่วสามานย์ต่าง ๆ โดยตลอดไป จึงนับเป็นบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญและได้รับสิ่งอันเป็นมงคล
หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
ระหว่างเทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัด ถวาย ทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่วบำเพ็ญความดีและชำระจิตให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น หลักธรรมสำคัญที่สนับสนุน คุณความดีดังกล่าวก็คือ "วิรัติ"คำว่า "วิรัติ" หมายถึงการงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปวิรัติ การงดเว้นจากบาปนั้น จำแนกออกได้เป็น ๓ ประการ คือ
๑. สัมปัตตวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป(โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่ได้สมาทานศีลไว้ เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ย่อมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธจะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา
๒. สมาทานวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ จากพระสงฆ์โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง
๓. สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรงเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่นกรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป เป็นต้น
                              

แหล่งที่มา  สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=118:-m---m-s&catid=41:2009-03-01-22-05-09&Itemid=167